แฮร์โซเกเนารัช (Herzogenaurach) เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี ในสายตาใครหลายคน เมืองแห่งนี้ในปัจจุบันมีประชากรเพียง 23,000 คน เพียงแต่ในสายตาของสนีกเกอร์เฮด คนในวงการแฟชัน หรือนักกีฬา เมืองแฮร์โซเกเนารัช กลับมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเมืองต้นกำเนิดของแบรนด์ชั้นนำที่ทุกคนทั่วโลกพยักหน้ารู้จักอย่าง อาดิดาส (Adidas) และพูมา (Puma)
ทว่าก่อนหน้าที่จะเกิดแบรนด์อาดิดาสและพูมา ครั้งหนึ่งทั้งสองแบรนด์เคยเป็นหนึ่งเดียวกันมาก่อน เพียงแต่สุดท้ายจุดหมายปลายทางกลับกลายเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบ นี่คือเรื่องราวของสองพี่น้องผู้ก่อให้เกิดแบรนด์กีฬาขึ้นหิ้งระดับตำนาน
ก่อนเกิดตำนาน Adidas และ Puma
ตัวละครหลักสองคนที่ขอแนะนำให้รู้จัก คนแรกมีชื่อว่า รูดอล์ฟ “รูดิ” ดาสเลอร์ คนที่สองมีชื่อว่า อดอล์ฟ “อาดิ” ดาสเลอร์ ทั้งสองก่อตั้งบริษัทผลิตรองเท้าภายใต้แบรนด์ Gebrüder Dassler Schuhfabrik ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า โรงงานรองเท้าพี่น้องดาสเลอร์ ช่วงเริ่มต้นยังเป็นโรงงานผลิตรองเท้าขนาดเล็ก โดยใช้พื้นที่ของร้านซักรีดที่แม่ของพวกเขาเป็นเจ้าของ
พี่น้องดาสเลอร์ เปิดโรงงานผลิตรองเท้าราวปี ค.ศ. 1920 หรือเป็นเวลาสองปีหลังจบสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ขณะนั้นประเทศเยอรมนีเจอปัญหาเพียบ ทั้งเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ การว่างงานสูง เกิดภาวะเงินเฟ้อ ขนมปังก้อนหนึ่งมีราคาหลายล้านมาร์ก (ปัจจุบันใช้สกุลเงินยูโร) รวมถึงค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งเยอรมนีถูกบังคับให้กระทำภายหลังจากสนธิสัญญาแวร์ซาย จากความพ่ายแพ้ในสงครามโลก
ในบริษัทได้แบ่งการทำงานชัดเจน โดยดาสเลอร์คนพี่ ทำหน้าที่ในส่วนธุรกิจ การจัดการต่างๆ ส่วนดาสเลอร์คนน้องทำหน้าที่ในส่วนของการพัฒนาสินค้า
ทั้งนี้ สินค้าระยะแรกพี่น้องดาสเลอร์จับตลาดกลุ่มรองเท้าฟุตบอล รองเท้าวิ่ง และได้รับความนิยมสูงมาก กระทั่งไปเตะตาโจ ไวต์เซอร์ อดีตโค้ชกรีฑาทีมชาติเยอรมนี ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์โด่งดังขึ้นไปอีก
เมื่อนาซีก้าวเข้ามาในบริษัท
การดำเนินกิจการของพี่น้องดาสเลอร์เป็นไปได้ด้วยดี กระทั่งเกิดความแตกแยกครั้งแรกๆ ของพี่น้องคู่นี้ เมื่ออดอล์ฟ ตัดสินใจแต่งงานกับเคธี สาวน้อยวัย 16 ปี หลังการแต่งงาน เคธี เข้ามาทำงานในแบรนด์รองเท้าของพี่น้องดาสเลอร์ เพียงแต่การเข้ามาของเคธี ฟากฝั่งรูดอล์ฟ พี่ชายไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก เพราะเขามองว่า เคธี อายุน้อยเกินไป และเธอไม่มีประสบการณ์ในภาคธุรกิจ
กาลเวลาล่วงมาถึงปี ค.ศ.1933 เยอรมนีตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซี ซึ่งพี่น้องดาสเลอร์เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคด้วย แล้วด้วยความที่ฮิตเลอร์ เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสนใจในกีฬา แรงสนับสนุนจึงมีมาก ส่งผลให้แบรนด์กีฬาดาสเลอร์ได้รับความนิยมต่อเนื่อง กระทั่งถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่กรุงเบอร์ลิน เป็นเจ้าภาพในปีค.ศ. 1936 ครั้งนั้น ดาสเลอร์ผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษให้กับนักวิ่งผิวดำ เจสซี โอเวนส์ และท้ายที่สุดเขาได้กลายเป็นดาวเด่นและคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตร ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี การที่มีนักวิ่งแอฟริกัน-อเมริกา มาสวมรองเท้าที่ผลิตโดยคนเยอรมนี เอาชนะคนเยอรมนี มีหรือที่รัฐบาลนาซีจะพอใจ
จุดแตกหัก เกิด adidas และ Puma
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองบังเกิดขึ้น โรงงานรองเท้าของพี่น้องดาสเลอร์ ถูกรัฐบาลนาซีบังคับให้ผลิตรองเท้าเพื่อการทหาร ขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งเจอหมายเรียกให้ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่สอง ในสภาวะสงครามก่อให้ความสัมพันธ์ของอดอล์ฟและรูดอล์ฟ ย่ำแย่ลง จากเดิมที่มีรอยปริ รอยร้าว มาก่อนแล้ว
สุดท้ายรูดอล์ฟ ถูกจับตัวไปโดยฝั่งอเมริกา ส่วนอดอล์ฟได้กลับมาบริหารแบรนด์ดาสเลอร์กับเคธี ก่อนที่จะถึงจุดแตกหัก เมื่อรูดอล์ฟ ถูกเตะโด่งออกจากบริษัทที่เขาร่วมกันก่อร่างสร้างมากับน้องชาย อดอล์ฟ ดาสเลอร์ ตัดสินใจปั้นแบรนด์ขึ้นมาใหม่ โดยนำชื่อเล่นของเขา “อาดิ” มารวมกับนามสกุลดาสเลอร์ กลายเป็นอาดิดาส
ทางด้านรูดอล์ฟ เริ่มก่อตั้งแบรนด์ใหม่ของตัวเองในปี ค.ศ. 1948 ในชื่อรูดา แต่ใช้ได้ไม่นาน ก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เสียใหม่ เป็นพูมา ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเนิร์นแบร์ก
จากวันนั้นว่ากันว่าอดอล์ฟ และรูดอล์ฟ ไม่พูดไม่จากันอีกเลย จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
Adidas - Puma ต่างฝ่ายต่างยิ่งใหญ่
ภายหลังการแตกแยกขัดแย้งของพี่น้องดาสเลอร์ รูดอล์ฟ และ อดอล์ฟ ทางด้านอาดิดาส ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในฐานะผู้ผลิตรองเท้ากีฬายอดนิยม จนได้รับฉายาว่า Shoemaker of the nation ก่อนที่จะต่อยอดด้วยการเป็นผู้ผลิตเสื้อกีฬาฟุตบอลให้กับทีมชาติเยอรมนี ตั้งแต่ปีค.ศ. 1954 จนถึงปัจจุบัน และกลายเป็น Global Brand เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ส่วนพูมา หลังจากที่แยกบริษัท พวกเขามีชื่อเสียงเป็นรอง เพราะชื่อเสียงที่ดังน้อยกว่า ขณะเดียวกันความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตรองเท้าก็อยู่ที่ฝั่งของอาดิดาส ทำให้พูมาต้องสร้างฐานลูกค้าขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มจากจับตลาดรองเท้าวิ่งผ่านการเป็นพาร์ทเนอร์กับอาร์มิน แฮรี นักวิ่งลมกรด 100 เมตร ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 1960 ที่กรุงโรม
ต่อจากนั้นพูมา ขยับก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรองเท้าให้กับเปเล และดิเอโก มาราโดนา สองนักฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกตลอดกาลจนเกิดปรากฏการณ์ที่คนรักกีฬาฟุตบอลต้องมีรองเท้าฟุตบอลของพูมา
Puma และ Adidas ในวันนี้
ทั้งพูมาและอาดิดาส มีการผลัดเปลี่ยนเจ้าของหลายต่อหลายมือ โดยผู้ก่อตั้งดั้งเดิมไม่ได้มีอำนาจการบริหารเหมือนยุคเริ่มต้นอีกแล้ว ปัจจุบันอาดิดาสและพูมาเป็นบริษัทในตลาดหุ้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Adidas AG บริหารงานโดย Kasper Rørsted เป็นซีอีโอ มีสำนักงานใหญ่ที่แฮร์โซเกเนารัช ที่เดิม
พูมา ตั้งสำนักงานใหญ่ที่แฮร์โซเกเนารัช เช่นกัน การบริหารเป็นหน้าที่ของ Bjørn Gulden ทั้งนี้ พูมา มี Artemis S.A. ถือหุ้นจำนวน 29 เปอร์เซ็นต์ และ Kering ถือหุ้น 16 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบขนาดธุรกิจพบว่า อาดิดาสโตกว่าพูมาอย่างมาก โดยอาดิดาสมี Market Cap ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่พูมามีเพียงแค่ 1.049 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบทั้งธุรกิจแล้ว อาดิดาสและพูมา ยังเป็นรองไนกี้ ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาจากสหรัฐอเมริกา ที่มี Market Cap สูงถึง 134 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวแวดวงกีฬา เทรนใหม่ๆ ได้ที่ tsi-support.com
|